เริ่มมีคนตั้งประเด็นว่า “เขาก่อสร้างเขามาดีๆ แต่ชัชชาติต้องการจะเร่งงาน ก็เลยไปสั่งเปลี่ยนวิธีก่อสร้าง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ สะพานถล่ม

วันนี้เลยจะขอมาเล่าเรื่องการก่อสร้างสะพานยกระดับ แบบภาษาชาวบ้านที่ไม่ได้จบวิศวะมา แต่สนใจเรื่องนี้ครับ
มาเริ่มกันที่ชื่อเรียกกันก่อนครับ เจ้าทางยกระดับที่เห็นเป็นคานปูนเรียบๆ มีท้องคานเป็นกล่องปูดๆ มีปีกสองข้าง ด้านบนให้รถวิ่งได้ สิ่งนี้จะเรียกว่า “คานกล่อง” หรือภาษาอังกฤษคือ Box Girder ครับ

นอกจากคานกล่องแล้วยังมีรูปแบบของคานสะพานอีกแบบคือแบบคานตัวไอ หรือ I Girder (บางทีก็เป็นตัว T) ความแตกต่างของสองแบบนี้คือ แบบ I Girder จะเป็นการหล่อคานและดึงลวดอัดแรงเพื่อเสริมความแข็งแรงเสร็จมาตั้งแต่โรงงาน สิ่งที่ต้องทำคือยกมาวางเรียงๆ กันบนหัวเสา หล่อปูนรวบทุกคานให้ติดกัน แล้วเทพื้นด้านบน ข้อเสียคือถ้าช่วงเสายาวมากๆ จะขนส่งลำบาก ส่วนแบบ Box Girder เดี๋ยวจะอธิบายแยกในทวีตต่อไปครับ

คานสะพานอีกแบบคือแบบคานตัวไอ

ที่นี้เจ้า Box Girder เนี่ยจะเป็นโครงสร้างแบบ post-tension แปลว่า “มีการดึงลวดอัดแรงเพื่อเสริมความแข็งแรงในการรับน้ำหนักทีหลัง” ครับ การดึงลวดอัดแรงเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างยังไง อธิบายเปรียบเทียบง่ายๆ ด้วยกองหนังสือสัก 10 เล่มครับ ถ้าเราเอาหนังสือมาเรียงประกบกันแล้วยกขึ้นมาโดยยกด้านหัวและท้าย ถ้าเราหนีบหนังสือไม่แน่นพอ ตรงกลางก็จะหล่นลงมา แต่ถ้าเราหนีบหัวท้ายให้แน่น หรือเอาเชือกมามัด หนังสือทั้ง 10 เล่มก็จะเหมือนเป็นแท่งหนังสือยาวๆ ที่แข็งแรงขึ้น สำหรับรายละเอียดแบบเชิงเทคนิคหน่อย แนะนำคลิปนี้ครับ youtu.be/ZCcKm7VL7y0 ก็มีวิธีการก่อสร้างอยู่หลายแบบเลยครับ


ทีนี้มาเข้าเรื่องกันครับ การก่อสร้างสะพานแบบ Box Girder เนี่ย มีวิธีการก่อสร้างอยู่ 3 วิธีหลักๆ ก็คือ 1. การตั้งนั่งร้านกับพื้น แล้วตั้งแบบหล่อโครงสร้างในพื้นที่ก่อสร้างเลย การก่อสร้างแบบนี้จะค่อนข้างมีต้นทุนที่ถูก ไม่ต้องใช้เทคนิควิศวกรรมเยอะ และสร้างได้ง่ายที่สุดครับ ไม่ต้องขนส่งชิ้นส่วนขนาดใหญ่จากนอกพื้นที่เข้ามาหน้างาน แต่จะมีข้อเสียใหญ่ๆ เลยคือสร้างได้ช้ามากๆ ควบคุมคุณภาพได้ยากเนื่องจากเป็นการทำสดหน้างาน และจะมีโครงนั่งร้านกีดขวางพื้นที่ด้านล่าง อาจจะเหมาะกับถนนสายใหม่ที่ไม่มีรถวิ่งอยู่ด้านล่าง เดิมโครงการทางยกระดับที่ลาดกระบัง ใช้วิธีนี้ครับ




2. การสร้างแบบหล่อในพื้นที่ก่อสร้าง โดยใช้นั่งร้านบนอากาศ แบบนี้จะมีข้อดีข้อเสียคล้ายๆ กับแบบแรกครับ แต่แทนที่จะตั้งโครงนั่งร้านบนพื้นดิน ก็เป็นโครงที่ห้อยอยู่ด้านบนแทน วิธีนี้อาจจะใช้ในกรณีที่ทางยกระดับมีความสูงเยอะ หรือมีอุปสรรคที่ไม่สามารถตั้งนั่งร้านบนพื้นได้ อย่างสะพานพระราม 3 ที่เพิ่งมีประเด็นเมื่อวันก่อน หรือสะพานพระนั่งเกล้าใหม่ ก็ใช้วิธีนี้ครับ โครงอลังการมาก ขอบคุณภาพจาก Unique Engineering




และวิธีที่ 3 การแบ่งคานกล่องเป็นชิ้นสั้นๆ (เรียกว่า Segmental Box Girder) หล่อจากโรงงาน แล้วมาติดตั้งที่หน้างาน วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมที่สุดในปัจจุบันครับ เนื่องจากก่อสร้างได้เร็ว สามารถเตรียมชิ้นส่วนสะพานไว้ล่วงหน้าได้ การติดตั้งก็จะเอาชิ้นส่วนมาทีละชิ้นๆ ยกขึ้นไปแขวนบนคานเหล็กยักษ์ที่เรียกว่า Girder Launcher พอแขวนครบแล้ว ก็ร้อยลวดอัดแรงผ่านเข้าไปด้านในกล่อง แล้วดึงลวดให้ตึงเพื่อยึดชิ้นคานทั้งหมดให้เป็นแท่งเดียวกัน วิธีการแบบละเอียดสามารถไปดูคลิปนี้ได้ครับ ช.การช่างทำเอาไว้ดีมากเลย youtu.be/KxySvpS0PRw ซึ่งข้อดีของวิธีนี้นอกจากสร้างได้เร็วแล้ว ยังสามารถควบคุมคุณภาพของชิ้นส่วนได้ เพราะสร้างจากโรงงานภายนอกพื้นที่ครับ และนี่ก็เป็นวิธีปัจจุบัน ที่ทาง กทม. ได้ให้ผู้รับเหมาเปลี่ยนมาใช้ จากเดิมที่ใช้วิธีที่ 1 แล้วโครงการมีความล่าช้ามาก ขอบคุณภาพจาก Italian-Thai, Civil Engineering, Unique Engineering ครับ




ดังนั้นต้องบอกว่าไม่ใช่ว่าอุบัติเหตุเกิดเพราะ “กทม. สั่งให้เปลี่ยนวิธีก่อสร้างครับ” เพราะวิธีการก่อสร้างแบบนี้เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นเทคนิคที่แปลกอะไร ดังนั้นอุบัติเหตุน่าจะเกิดจากเหตุอื่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นจากคุณภาพวัสดุและเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ จากความหละหลวมในการควบคุมงาน การลดต้นทุน หรือขั้นตอนวิธีในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งก็ต้องรอดูข้อสรุปจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ อีกทีครับ ☹️ สุดท้ายนี้ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสีย และขอให้ได้ข้อสรุปผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้โดยเร็วครับ 🤍
cr คุณลูกบอส...